การแพร่ ( Diffusion ) หมายถึง
การเคลื่อนที่ของโมเลกุลหรืออิออน ซึ่งจะเคลื่อนที่จากบริเวณที่มีความหนาแน่นของโมเลกุลที่มากกว่า
ไปยังบริเวณที่มีความหนาแน่นของโมเลกุลที่น้อยกว่า จนกระทั่งความหนาแน่นของโมเลกุลของสารเกิดความสมดุล
คือความหนาแน่นของโมเลกุลเท่ากันจึงหยุดแพร่
* สารที่จะแพร่ได้ต้องอยู่ในสภาวะโมเลกุลหรืออิออนที่เคลื่อนที่ได้ เช่น สภาวะก๊าซหรือของเหลวหรืออนุภาคของแข็งที่แขวนลอยในตัวกลางที่เป็นของเหลว
* ต้องอาศัยพลังงานจลน์ที่อยู่ในโมเลกุลหรืออิออนในการแพร่
* การแพร่ของอนุภาคของแข็งในตัวกลางที่เป็นของเหลว จะอาศัยพลังงานจลน์ของของเหลวที่กระแทกโมเลกุลของของแข็งตลอดเวลา
* เกิดขึ้นเมื่อมีโมเลกุลหรืออิออนของสารในที่ 2 แห่งหนาแน่นไม่เท่ากัน ซึ่งจะเกิดการแพร่จากบริเวณที่หนาแน่นมากไปยังบริเวณที่หนาแน่นน้อยกว่า
*โมเลกุลของสารที่อยู่กันอย่างหนาแน่นจะชนกันเอง และกระแทกให้โมเลกุลรอบนอกเคลื่อนที่ออกไปจากบริเวณที่หนาแน่นมาก
กระจายออกไปเรื่อยๆ
ปัจจัยที่มีผลต่อการแพร่ ได้แก่
1. ความเข้มข้นของสาร - สารที่เข้มข้นมากจะแพร่ได้รวดเร็วกว่าสารที่มีความเข้มข้นน้อย
2. อุณหภูมิ - เป็นการเพิ่มพลังงานจลน์ให้แก่อนุภาคของสารที่จะแพร่ทำให้การแพร่เป็นไปได้เร็วขึ้น
3. ความดัน - การเพิ่มความดันช่วยให้โมเลกุลหรืออิออนของสารเคลื่อนที่ได้ดีขึ้น
4. สิ่งเจือปนอื่นๆ - ที่ปนอยู่ในสารจะเป็นอุปสรรคขัดขวางทำให้การแพร่เกิดได้ช้าลง
5. การดูดติดของสารอื่น - ถ้าโมเลกุลหรืออิออนของสารที่แพร่ถูกดูดติดด้วยองค์ประกอบของสารต่างๆ
จะทำให้ความสามารถในการแพร่ลดลง